ถิ่นอาศัย การกระจายพันธุ์ และนิเวศวิทยา ของ เห็ดเผาะ

เห็ดเผาะต้ม อาหารที่เป็นที่นิยมในภาคเหนือของไทย

เห็ดเผาะเป็นเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizal) ที่เจริญเติบโตร่วมกับต้นไม้สามชนิด[8] มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างรากต้นไม้และกลุ่มใยราของเห็ดรา เห็ดช่วยต้นไม้สกัดสารอาหาร (โดยเฉพาะฟอสฟอรัส) จากผืนดิน ในทางกลับกัน เห็ดจะได้รับคาร์โบไฮเดรตจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของต้นไม้[9] ในทวีปอเมริกาเหนือ เห็ดเผาะมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากับต้นโอ๊กและไม้จำพวกสน[10] ขณะที่ในประเทศอินเดีย มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากับสน Pinus roxburghii และต้นสาละ (Shorea robusta)[9] เห็ดเผาะพบขึ้นกระจัดกระจายหรือเป็นกลุ่มบนพื้นดินในที่เปิดโล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนดินที่มีธาตุอาหารต่ำ ดินทราย หรือดินร่วน[5][11][12] มีรายงานว่าพบในพื้นที่ดินปนหินด้วยเช่นกัน ในสภาพดินเป็นกรดที่ประกอบด้วยหินชนวนและหินแกรนิต แต่ไม่พบบนดินที่มีหินปูนจำนวนมาก[13] ในประเทศเนปาล มีรายงานว่าพบเห็ดที่ความสูง3,000 เมตร (9,800 ฟุต)[14] ดอกเห็ดมักพบในฤดูใบไม้ร่วง แม้ว่าดอกแห้งจะสามารถคงสภาพได้สองถึงสามปี[7] Gelatinipulvinella astraeicola เป็นเห็ดราในวงศ์ leotiaceous ที่มีขนาดเล็ก คล้ายวุ้น มีแอโพทิเชียคล้ายนวม มักเจริญเติบโตในเห็ดสกุลAstraeus ที่ตายแล้ว รวมถึง A. hygrometricus ด้วย[15]

เห็ดเผาะมีการกระจายพันธุ์ทั่วโลกในพื้นที่อบอุ่นและเขตร้อน[16] ยกเว้น พื้นที่ที่มีภูมิอากาศหนาวเย็นแบบแอนตาร์ติค และแบบแอลป์[12] พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกาเหนือ[17] และอเมริกาใต้[18]